เรื่องของไผ่ และสายพันธุ์
...
ไผ่เป็นทรัพยากรป่าไม้ที่มนุษย์รู้จักนำมาใช้ประโยชน์ มากกลุ่มหนึ่งมาตั้งแต่อดีตกาลโดยเฉพาะคนในชนบท จนได้รับการขนานนามว่าเป็น “ไม้ซุงของคนจน (The Poor Man‘s Timber)” (Sharma, 1985 อ้างโดย สงคราม, 2532) ไผ่จัดเป็นพืชโตเร็ว (Fast-growing plant) ที่มีรอบตัดฟัน (Harvest Rotation) ที่สั้นที่สุดเมื่อเทียบกับไม้โตเร็วชนิดอื่นที่ปลูกสร้างเป็นสวนป่าและใช้ ประโยชน์กันอยู่ในเมืองไทย นอกจากนี้ไผ่ยัง จัดเป็นไม้เอนกประสงค์ (Multi-purpose species) ทุกส่วนของไผ่สามารถนำมาใช้ประโยชน์ได้ทั้งสิ้นทั้งทางตรงและทางอ้อม ประโยชน์ทางตรง อาทิเช่น หน่อไผ่ใช้ในการบริโภคได้มากกว่า 25 ชนิด ที่นิยมและแพร่หลายในประเทศไทย เช่น ไผ่ตง ( Dendrocalamus asper ) ไผ่ไร่ ( Gigantochloa albociliata) ไผ่รวก (Thyrsostachys siamensis) ไผ่หมาจู๋ (D. latiflorus) และ ไผ่ลุ่ยจู๋ ( Bambusa oldhamii Munro.) เป็นต้น หน่อไม้ไผ่เป็นอาหารสำคัญที่นอกจากจะใช้บริโภคภายในประเทศแล้ว ส่วนหนึ่งได้มีการส่งไปจำหน่ายยังต่างประเทศในรูปของผลิตภัณฑ์ต่างๆเช่น หน่อไม้อัดปีบ หน่อไม้แห้ง หน่อไม้สดแช่แข็ง หน่อไม้อัดกระป๋อง เป็นต้น ปริมาณการส่งออกผลิตภัณฑ์หน่อไม้ดังกล่าวมีแนวโน้มที่สูงขึ้นทุกปี เนื่องจากความต้องการของตลาดต่างประเทศสูง และการผลิตที่เป็นอยู่ในปัจจุบันไม่เพียงพอต่อความต้องการของตลาด ปัจจุบันมีการปลูกสวนไผ่ตงเพื่อการผลิตหน่อไม้สดส่งโรงงานในเขตจังหวัด กาญจนบุรีและปราจีนบุรี และได้มีการนำพันธุ์ไผ่ลุ่ยจู๋และหมาจู๋ ซึ่งเป็นไผ่จากประเทศไต้หวันที่ใช้บริโภคหน่อสดเข้ามาทดสอบปลูกในเขตจังหวัด ปราจีนบุรีและกาญจนบุรี พบว่าสามารถเจริญเติบโตและให้ผลผลิตได้ดี โดยเฉพาะไผ่พันธุ์ลุ่ยจู๋ให้หน่อที่มีรสชาติหวานมาก เนื้อละเอียด กรอบ มีเสี้ยนน้อย (นิศารัตน์และคณะ, 2540) เหง้าไผ่ (rhizome) ใช้ทำเครื่องประดับตกแต่งบ้าน ใบของไผ่บางชนิดใช้ห่ออาหาร เช่นขนมบ๊ะจ่าง ลำไม้ไผ่ใช้ประโยชน์ได้กว้างขวางมาก เช่น ทำเครื่องจักสาน ก่อสร้าง ไม้ค้ำยัน เครื่องดนตรี เยื่อกระดาษ ไม้อัด และอื่น ๆ ที่นิยมมากในปัจจุบันคือการผลิตถ่านจากไผ่ในรูป Bamboo Activated Charcoal โดยถ่านชนิดนี้สามารถดูดซับกลิ่น สี ก๊าซ ฝุ่นละออง สารอินทรีย์และสารอนินทรีย์บางชนิด สารปนเปื้อนในน้ำและอากาศ สารนิโคตินในบุหรี่ สารเรดิโอแอคทีฟบางตัวเช่น xenon และ krypton ซึ่งปนเปื้อนในระบบระบายอากาศโรงงานที่ใช้พลังงานนิวเคลียร์เป็นต้น ประเทศสาธารณรัฐประชาชนจีนผลิตถ่านไม้ไผ่ส่งขายในประเทศต่างๆ เช่น ประเทศสหรัฐอเมริกา ประมาณ 70,000 ตันต่อปี ประเทศญี่ปุ่นประมาณ 50,000 ตันต่อปี (Anonymous, 2000) จะเห็นได้ว่าการศึกษาวิจัยการใช้ประโยชน์จากถ่านไม้ไผ่เป็นอีกทางหนึ่งที่ สามารถนำไปสู่การผลิตในเชิงอุตสาหกรรมได้ ในอนาคตนอกจากนี้การผลิตถ่านไม้ไผ่ ยังมีผลพลอยได้จากการเผาถ่านไม้ไผ่ ได้แก่ น้ำส้มควันไม้ ซึ่งมีประโยชน์ในการใช้ป้องกันกำจัดแมลงศัตรูพืช การนำไปใช้ประโยชน์เป็นยารักษาโรค การใช้ประโยชน์ในด้านเครื่องสำอางบำรุงผิว เป็นต้น ส่วนประโยชน์ในทางอ้อมของการปลูกไผ่ เช่น การปลูกไผ่ไว้ริมตลิ่งป้องกันตลิ่งพังเนื่องจากการกัดเซาะพังทลาย หรือการปลูกไผ่ไว้ตามหัวไร่ปลายนาหรือรอบๆ ที่อยู่อาศัยเพื่อใช้เป็นแนวชะลอความเร็วของลม (wind-break) ป้องกันพืชผลที่ปลูกไม่ให้ถูกทำลายโดยแรงลม และที่สำคัญที่สุดคือประโยชน์จากการช่วยลดปริมาณก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์และ เพิ่มปริมาณก๊าซออกซิเจนในบรรยากาศ จากกระบวนการสังเคราะห์แสง ซึ่งไผ่สามารถสังเคราะห์แสงได้จากทั้งส่วนที่เป็นใบซึ่งมีพื้นที่ผิวใบจำนวน มาก รวมไปถึงจากส่วนผิวของลำไผ่ซึ่งมีสีเขียวก็ช่วยในการสังเคราะห์แสงได้เช่น กัน การปลูกสวนไผ่นอกจากจะได้รับประโยชน์ดังกล่าวข้างต้นแล้ว ป่าไผ่ยังช่วยลดภาวะโลกร้อนซึ่งเป็นปัญหาที่ทุกประเทศในโลกนี้ต้องช่วยกัน ไม่ให้เกิดภาวะวิกฤต
การจำแนกพันธุ์ด้วยลักษณะที่ปรากฎภายนอกใหญ่ ๆ ให้สังเกตได้จาก
1. ใบ ดูลักษณะ (shape) ปลายใบ โคนใบ หูใบ (stipules) ซึ่งจะแตกต่างกันไปตามชนิด2. สังเกตความสั้นยาวของปล้อง (internods) เช่น ไผ่นวล ไผ่ข้าวหลาม ไผ่เฮียะ ซึ่งมีปล้องยาว ส่วนไผ่ป่า จะมีปล้องสั้น
3. ความโตของเส้นรอบวง เช่น ไผ่หก ไผ่เฉียงรุน ไผ่ซาง มีขนาดโตกว่าไผ่ชนิดอื่น
4. ดูตาปล้อง (Bud) ไม้ไผ่บางชนิดจะมีหนามอยู่เหนือตา เช่น ไผ่สีสุก ไผ่ป่า ส่วนไม้ไผ่ซางมีกิ่งยื่นออกมา และหลุดหายไปเมื่อแก่เต็มที่
5. สีของลำต้น (Colors) ไม้ซางคำหรือไผ่เหลืองจะมีสีเหลืองตลอดลำและมีแถบสีเขียวยาวเป็นแถบลงมา ส่วนไผ่สีสุก ไผ่ป่า จะมีสีเขียวสดอยู่เสมอ
6. ความหนาของลำต้น เช่น ไผ่สีสุก ไผ่ไร่ จะมีความหนากว่าไผ่ข้าวหลาม เป็นต้น
จากการสังเกตลักษณะภายนอกดังกล่าวมาแล้ว เพียงอย่างเดียวก็ยังไม่สามารถจะจำแนกพันธุ์ได้ถูกต้องนัก เพราะแม้แต่ไม้ไผ่ชนิดเดียวกันก็ยังมีลักษณะไม่เหมือนกัน เนื่องจากความแตกต่างทางภูมิอากาศ ทางธรณีวิทยา ความสมบูรณ์ของดินที่แตกต่างกัน ปริมาณนํ้าฝน เป็นต้น ทำให้ไผ่ชนิดเดียวกันปลูกในที่ต่างกันมีลักษณะผิดแปลกกันไป ยิ่งกว่านั้นอายุความอ่อนแก่หรือจำนวนที่ปลูกต่างกัน ก็ทำให้ลักษณะส่วนประกอบของเนื้อไม้ต่างกันไปด้วย ฉะนั้นการจำแนกพันธุ์ที่ถูกต้อง ต้องอาศัยการเจริญเติบโตของเหง้า กาบหุ้มลำ ส่วนต่าง ๆ ของดอกลักษณะของผล เป็นเกณฑ์ด้วยจึงจะจำแนกได้อย่างถูกต้อง
ก่อนที่จะจำแนกพืชพันธุ์ไผ่โดยพิสดาร จำเป็นต้องรู้จักส่วนต่าง ๆ ของไผ่ เป็นหลักเสียก่อน
1. เหง้า (Rhizome) คือส่วนของลำต้นที่อยู่ใต้ดิน แบ่งออกเป็น 2 ชนิด
1.1 รากโมโนพอเดียล (monopodial rhizome) ลำเหง้าเรียวยาว เจริญงอกงามไปตามแนวระดับและมีขนาดเล็กกว่าลำที่งอกขึ้นมาจากด้านข้างของ เหง้า ดูภาพที่ 2
1.2 เหง้าซิมพอเดียล (Sympodial rhizome) ลำเหง้าสั้น และมีขนาดใหญ่กว่าลำที่งอกขึ้นมาจากตอนปลาย
ตามทัศนะของ HUBBARD (1934) เป็นผู้เชี่ยวชาญเรื่องหญ้า ประจำหอพรรณไม้ คิว ประเทศอังกฤษ ได้จัดให้ไม้ไผ่เป็นเผ่า (tribe) หนึ่งของอนุวงศ์ POOIDEAE ในวงศ์ GRAMINEAE และ ขนานนามเผ่าไม้ไผ่ว่า BAMBUSEAE
ส่วนโคนของแขนงที่งอกออกไปจากเหง้านั้นเรียกว่า คอเหง้า
(rhizome neck)
2. กาบหุ้มลำ (Culm sheath) คือ ส่วนที่หุ้มอยู่รอบลำ สำหรับป้องกันราเมื่อยังอ่อนอยู่ กาบหุ้มนี้มักจะหลุดร่วงไปเมื่อลำเจริญเติบโตเต็มที่ แต่มีไม้ไผ่บางชนิดที่กาบหุ้มลำไม่หลุดร่วงไป เช่น ไผ่รวก (Thyrostachys
siamensis) เป็นต้น กาบหุ้มลำแบ่งออกเป็น 2 ส่วน คือ
2.1 กาบ (sheath) คือส่วนที่หุ้มรอบลำ อาจมีสภาพหนา แข็งกรอบ หรือบางอ่อน มีขนคายหรือเกลี้ยง ไม่มีขนสั้นหรือยาว แตกต่างกันไปตามชนิดของไม่ไผ่ ตอนปลายกาบตรงที่ต่อกันกับใบยอดกาบ จะมีส่วนที่จะขอเรียกว่า กระจัง (ligule) ดูภาพที่ 3 กระจังนี้อาจจะเป็นขนยาว ๆ หรือสั้น ๆ หรือเป็นเยื่อบางก็ได้ นอกจากนี้แล้วตรงด้านบนทั้งสองข้างของกาบซึ่งมีลักษณะคล้ายหัวไหล่นั้น บางทีจะมีครีบหรือขนอยู่ จะขอเรียกรวม ๆ ว่าครีบกาบ(auricle)
2.2 ใบยอดกาบ (sheath blade) ตอนปลายของกาบมีส่วนที่มีลักษณะคล้ายใบ แต่มีขนาดใหญ่และเนื้อหนากว่า ใบยอดกาบนี้ตามปกติจะหลุดร่วงพร้อมกันกับกาบ แต่มีบางชนิดที่หลุดร่วงไปก่อน อย่างไรก็ตามใบยอดกาบ จะมีรอยต่ออยู่กับกาบเสมอมิได้เชื่อมเป็นแผ่นเดียวกันโดยตลอด ดูภาพที่ 3
3. ดอก (Floret) ดอกไม้ไผ่มีส่วนต่าง ๆ จำนวน 3 เกือบทุกสกุล และเนื่องจากส่วนต่าง ๆ ของดอกอยู่ใกล้ชิดกันมาก จึงมีรูปลักษณะผิดแปลกไปจากดอกพันธุ์ไม้จำพวกหญ้าในวงศ์เดียวกัน คือ ช่อดอก (inflorescens) หนึ่งจะมีกลุ่มดอก (spikelet) หลายดอก และกลุ่มดอกหนึ่งก็มีดอก (floret) ดอกเดียวหรือหลายดอก ที่โคนสุดของกลุ่มดอกนั้นมีกลีบ (glume) ซึ่งจะขอเรียกว่า กลีบหุ้มดอกปกติมีกลีบ แล้วแต่ละดอกจะมีช่วงระหว่างดอก (rachilla) สั้น ๆ ซึ่งขอเรียกว่าก้าน ดูภาพที่ 5 กลีบหุ้ม (lemma) มีขนาดใหญ่และจะหุ้มกลีบต่าง ๆ ของดอกไว้เกือบโดยรอบ กลีบรอง (palea) มีจำนวน 2 กลีบดอก (lodicule) ส่วนมาก มีจำนวน 3 หรือบางทีมีเพียง 2 เท่านั้น เกษรตัวผู้ (stamen) มีจำนวน 3 หรือ 6 ก้าน เกษรเชื่อมติดกันหรือแยกกันอยู่อับเรณู (anther) ตรงยอดมักพองโตหรือมีขน เกษรตัวเมีย (pistil) มักมีขนปกคลุมและตอนปลายอันเป็นที่ตั้งของตุ่มเกษร (stigma) จะเป็นอันเดียวกันหรือแยกจากกัน 2 หรือ 3 แฉก ดูภาพที่ 5
4. ผล เป็นชนิดเนื้อนุ่มเปลือกอ่อน (berry) หรือเนื้อแข็งเปลือกล่อนแข็ง (nut) หรือเนื้อแข็งเปลือกแข็ง ไม่ล่อน เช่น เมล็ดข้าวเปลือก แตกต่างกันไปแต่ละเผ่าพันธุ์
การจำแนกพันธุ์ไม้ไผ่ในโลกนี้ ถึงแม้นักพฤกษศาสตร์ ส่วนใหญ่ได้จัดรวมไว้ในวงศ์เดียวกันกับหญ้าชนิดต่าง ๆ คือ วงศ์ (GRAMINEAE) แต่บางท่านที่พิจารณาเห็นว่า ไม้ไผ่มีลักษณะพิเศษแตกต่างไปจากวงศ์หญ้าตรงที่มีลำต้นแข็งแรง เนื้อแข็ง มีก้านใบ (petiole) เห็นชัด ส่วนต่าง ๆ ของดอกจำนวน 3 เกือบสม่ำเสมอทุกสกุล ช่อดอกไม่มีกาบหุ้มเหมือนหญ้าอื่น ๆ และมีผลมีลักษณะไม่เปลี่ยนแปลงมากนัก ลักษณะต่าง ๆ เหล่านี้ล้วนเป็นเครื่องแสดงให้เห็นว่า ไม้ไผ่มีกำเนิดมาก่อนหญ้า ซึ่งวิวัฒนาการขึ้นมาภายหลัง สมควรที่จะยกฐานะขึ้นเป็นพืชวงศ์หนึ่งต่างหาก และให้ชื่อ ว่า BAMBUSACEAE
พันธุ์ไม้ไผ่ในประเทศไทย นั้น ได้จัดรูปวิธานการจำแนก ไม้ไผ่สกุลต่าง ๆ เท่าที่ได้ทราบแน่นอนว่ามีอยู่ในประเทศไทย โดยอาศัยหลักเกณฑ์ของ McCLURE (1 966) ซึ่งใช้ลักษณะของเหง้า กิ่งตามข้อลำตอนกลางลำ กาบหุ้มลำ ครีบกาบ (auricle) และลักษณะของเกษรตัวผู้และเกษร ตัวเมียประกอบกันดังต่อไปนี้
ข้อมูลจาก คณะผู้วิจัย:สถานีวิจัยกาญจนบุรี สถาบันค้นคว้าและพัฒนาระบบนิเวศเกษตร มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ และไทยเกษตรศาสตร์